Mangroves "R" us

16/11/2555 12:49
1,887

ชุมชนตำบลกำพวนเป็นหัวเมืองเล็กๆตั้งขึ้นในสมัยพระเจ้าจันทร์ภานุ เมือ พ.ศ. 1779 หรือร่วม 800 ปีที่แล้ว พื้นที่ที่เป็นชุมชนในปัจจุบันในอดีตเป็นทะเล ได้ชื่อว่าบ้านกำพวนเพราะมีหวายชนิดหนึ่งเรียกว่าหวายกำพวนขึ้นอยู่จำนวนมาก อาชีพในสมัยก่อนคือทำโป๊ะจับปลา ทำปลาแห้งไปขาย

การอยู่อาศัยในป่าชายเลนของชาวประมงในสมัยก่อน ต้องมีการปรับตัวในการแสวงหาอาหารสารพัดชนิดที่มีอยู่ในป่าชายเลนเป็นอย่างมาก เช่น สังเกตว่าฝักแก่ของพังกาหัวสุม(ประสักดอกแดง) มีหนอนอยู่ภายใน แม้แต่แมลงและนกยังกินได้ ทำไมคนจะกินไม่ได้ จึงลองเก็บมาต้มกิน แต่ปรากฏว่ามีรสฝาดมาก จึงทดลองนำไปตากน้ำฝนไว้สามวันแล้วค่อยนำไปต้มแล้ว แกะเปลือกออกทำเป็นขนม หรือใส่แกงกิน ได้อร่อยดี นำดอกของต้นแสมดำ/แสมขาว มาเป็นไส้ขนมหรือใส่ในแกง และยังพบอีกว่าฝักของต้นถั่วขาว สามารถนำไปต้มน้ำขี้เถ้าหลายๆครั้งแล้วลอกเปลือกออก แล้วนำไปต้มอีกครั้ง นำฝักไปคลุกกับน้ำตาล กินเป็นขนม หรือใส่ในแกง เช่นเดียวกับฝักของต้นถั่วดำ ชาวประมงจึงนำขนมและแกงที่แปรรูปจากผลิตผลของป่าชายเลนที่มีตามฤดูกาลดังกล่าวไปรับประทานเมื่อเวลาออกเรือไปหาปลาในทะเล และเมื่อล่องเรือผ่านป่าชายเลน นอกจากจะพบความงามและความสงบเรียบง่ายของธรรมชาติแล้วยังได้พบเห็นพันธุ์ไม้ชายเลนหลากหลายสายพันธุ์ และ สิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนต่างๆด้วย เช่น นกออก ลิงแสม ปลาตีน ปูดำ กุ้งก้ามดาบ ตัวแม่หอบ นาก ฯลฯ

ตำบลกำพวน อยู่ในอำเภอสุขสำราญ ห่างจากจังหวัดระนองประมาณ 98 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 68,788 ไร่ แบ่งออกเป็น 7 หมู่บ้าน จำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 5,000 คน มีคลองกำพวนเป็น “สายน้ำเดียวกัน” เชื่อมผ่านแต่ละหมู่บ้านไหลเลาะตามแนวป่าชายเลนแล้วออกลงสู่ทะเล 

ทางกลุ่มได้ร่วมกันฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2551 แล้วและในปี 2555 จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็น "วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลนชุมชนตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง" เพื่อการอนุรักษ์ป่าชายเลนทั้งโดยทางตรง เช่น การปลูกป่าชายเลนอย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูความสมดุลของป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ การเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลนให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด เป็นต้น และการอนุรักษ์ป่าชายเลนโดยทางอ้อม เช่นส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม ไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรม เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นของตน เพื่อปกป้องคุ้มครอง ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และเสริมสร้างบทบาทของภาคประชาชนมาร่วมบูรณาการกับภาครัฐ ในการนำไปสู่เป้าหมาย “คุณจะรักษ์ป่าชายเลนมากกว่าที่คุณรักษ์” และ “คุณจะรักกำพวน มากกว่ากำพวนที่คุณรู้จัก”

เพราะป่าชายเลนได้ช่วยชีวิตชาวกำพวนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ จากเหตุการณ์มหัตภัยสึนามิปี 2547 หากไม่มีป่าชายเลนแล้วคงจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 163 คน นอกจากนั้นป่าชายเลนยังทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ทะเล ช่วยป้องกันน้ำทะเลเข้าสู่แม่น้ำ ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และช่วยดูดซับกรองสารพิษ เป็นต้น ด้วยเหตุผลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และอนาคต นั่นคือ

ป่าชายเลนเป็นอยู่คือ ‘เรา”

1. ปลูกป่าอย่างยั่งยืน ปลูกให้เป็น ปลูกให้เหมาะสมกับระบบนิเวศ ปลูกให้โต ปลูกเป็นประจำ ปลูกให้หลากหลาย
2. เก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ตัดไม้ทำลายป่าชายเลน
3. แปรรูปอย่างยั่งยืน ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

การปลูกป่าชายเลนอย่างยั่งยืนมีจุดประสงค์ 3B ดังนี้

1. Biodiversity เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

2. Beauty เพื่อความสวยงามของธรรมชาติ

3. ฺBalance เพื่อความสมดุลของคน สิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ ชุมชน และเศรษฐกิจ

การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลนอย่างยั่งยืนมีหลักการมาจากการเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืนไม่ตัดไม้ทำลายป่าชายเลน แบบ 3D ดังนี้

1. ไม่ Disturb ไม่รบกวน

2. ไม่ Degrade  ไม่ทำให้เสื่อมสภาพ

3. ไม่ Destroy ไม่ทำลาย